รู้หรือไม่ ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ในระยะเวลาอันสั้น อันตรายถึงเสียชีวิต...
รู้หรือไม่ ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ในระยะเวลาอันสั้น อันตรายถึงเสียชีวิต...
รู้หรือไม่ว่า การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปในระยะเวลาสั้น ๆ ส่งผลร้ายแรงต่อร่างกาย ทำให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดพุ่งสูง ส่งผลต่อสมองและระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก หมดสติ เสี่ยงต่อหัวใจหยุดเต้น และอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
ยิ่งเข้าใกล้การก้าวสู้ปีใหม่เท่าไหร่ ยิ่งเจอกันมากขึ้นสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นเครื่องดื่มคู่ใจการเฉลิมฉลองทุกเทศกาล แม้ว่าการดื่มจะทำให้บรรยากาศการสังสรรค์ครื้นเครง แต่กลับมีอันตรายมากมายแฝงตัวอยู่
อย่างที่หลายคนทราบดีว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดอาการมึนเมา เราจึงควรกินเท่าที่เรารับไหว เนื่องจากศักยภาพการดื่มของเราทุกคนไม่เท่ากัน แต่สำหรับคนที่ดื่มเพลินจนไม่รู้ตัวก็อาจทำให้เมาไม่ได้สติ จนอาจเกิดเป็นภาวะ ‘แอลกอฮอล์เป็นพิษ’ ซึ่งมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการของภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ
ผศ. นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ สาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยาคลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายภาวะนี้ไว้ว่า เป็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก และดื่มอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้ตับไม่สามารถขับสารนี้ออกจากเลือดได้ทัน ทำให้ระบบการทำงานของร่างการรวนจนเกิดภาวะช็อกที่เป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต
ภาวะนี้มีสาเหตุมาจาก การดื่มจนทำให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ กอปรกับอัตราเสี่ยง 3 ปัจจัยในร่างกาย ได้แก่
การดูดซึมสารในร่างกายของแต่ละบุคคล
ปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในแต่ละชนิดของเครื่องดื่ม
เพศหญิงจะมีปฏิกิริยาต่อแอลกอฮอล์ได้ไวกว่าผู้ชาย
โดยเราสามารถสังเกตอาการของภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษได้ ดังนี้...
- สับสน
- พูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง
- น้ำตาลในเลือดต่ำ
- ไม่สามารถทรงตัวได้
- ง่วงซึม นอนหลับเยอะกว่าปกติ
- อาเจียน
- หายใจผิดปกติ
- เกิดอาการชัก
- การเคลื่อนไหวของดวงตาเร็วกว่าปกติ
- ตัวเย็นจัด
- ผิวหนังซีด กลายเป็นสีม่วง
- หมดสติ ไม่รู้สึกตัว
- เกิดภาวะกึ่งโคม่า ร่างกายไม่สามารถตอบสนองได้
- หัวใจวายเฉียบพลัน
- หยุดหายใจ
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- รีบโทรแจ้งหน่วยกู้ชีพ 1669 หรือโทรแจ้งตำรวจ 191 เพื่อขอความช่วยเหลือ
- ปลุกผู้ป่วยให้ตื่นและพยุงให้อยู่ในท่านั่ง
- หากยังดื่มน้ำได้ ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเปล่า
- หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคงหรืออยู่ในท่าพักฟื้น คอยดูว่าผู้ป่วยยังหายใจอยู่หรือไม่
- หากพบว่าหยุดหายใจให้ทำการช่วยหายใจ หรือหากพบหัวใจหยุดเต้นให้เริ่มการกู้ชีพ CPR
- ทำให้ร่างกายของผู้ป่วยอบอุ่น
- คอยสังเกตอาการจนกว่ารถพยาบาลจะมา
- อย่าให้ผู้ป่วยหลับ
- ห้ามอาบน้ำให้ผู้ป่วย
- ลักษณะอาการที่อาจพบและระดับแอลกอฮอล์ในเลือด (หน่วยเป็นมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)
20 – 49 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ อารมณ์ดี ผ่อนคลาย และการตัดสินใจช้าลงเล็กน้อย
50 – 99 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เริ่มเสียการทรงตัว ควบคุมตัวเองได้น้อยลง และตอบสนองช้าลง
100 – 199 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เดินเซ กล้ามเนื้อทำงานไม่สัมพันธ์กัน
200 – 299 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ คลื่นไส้ อาเจียน การรับรู้ลดลง และจำเหตุการณ์ไม่ได้
300 – 399 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หมดสติ ชีพจรลดลง และอุณหภูมิร่างกายลดลง
มากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีโอกาสหยุดหายใจและเสียชีวิตได้
การตอบสนองต่อระดับแอลกอฮอล์อาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคล แม้ระดับจะน้อยกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ก็อาจเสี่ยงจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือการนอนหลับลึกในท่าผิดปกติที่อุดกั้นทางเดินหายใจได้ เช่น การนอนคอพาดกับระเบียงจนกดทางเดินหายใจ
ผลกระทบต่อร่างกายจากการดื่มแอลกอฮอล์
เแม้ว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยเพิ่มความสุข และสนุกสนาน แต่ข้อเสียที่ตามมาอาจไม่ทำให้เราสนุกไปด้วย แม้ว่าเราจะไม่ดื่มในปริมาณมากในระยะเวลาอันสั้น แต่การดื่มแอลกอฮอล์บ่อยครั้ง และมากเกินความจำเป็นของร่างกาย เราก็จะได้รับผลกระทบอยู่ดี อาทิ
หัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ ไม่แข็งแรง เกิดหัวใจวายได้ง่าย
ตับ เกิดโรคตับแข็ง ตับที่ถูกทำลายจากแอลกอฮอล์จะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดี เช่น การย่อยสลายสารอาหารหรือการเปลี่ยนแปลงของยาที่รับประทานเข้าไป บางรายอาจมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง หรืออาเจียนเป็นเลือด
ผิวหน้า หลอดเลือดขยายตัว ผิวหน้าจะเป็นสีแดงเรื่อ ๆ ทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนออกจากทางผิวหน้า บางครั้งอาจเกิดอาการหนาวสั่นหรือเกิดโรคปอดบวมได้ง่ายในฤดูหนาว
สมอง แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดการทำงานของสมองจะทำให้ความจำเสื่อม การตัดสินใจไม่ดี สมาธิเสีย โกรธง่าย พูดช้าลง สายตาพร่ามัว และเสียการทรงตัว
กระเพาะอาหารอักเสบฉับพลันบางครั้งทำให้เกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร
ระบบสืบพันธุ์
– เพศชายเกิดการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
– ผู้หญิงตั้งครรภ์จะมีผลต่อทารกทั้งทางร่างกายและจิตใจ
เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งตับ มะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ และมะเร็งเต้านม
ดื่มอย่างไรให้ปลอดภัย
กินอาหารรองท้องก่อนดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมได้เร็วเมื่อท้องว่าง
ไม่ควรดื่มติดต่อกันเป็นเวลานาน
หลีกเลี่ยงการดื่มแบบแก้วต่อแก้วหรือดื่มครั้งละมาก ๆ
เมื่อเริ่มมีอาการมึนหัวให้ลดปริมาณการดื่มหรือหยุดดื่มทันที
อย่าดื่มจนเมาเกินไป
เพราะฉะนั้นควรดื่มแต่พอประมาณ ไม่หักโหมจนเกินไปเพื่อป้องกันการเกิดอันตรายร้ายแรงที่อาจถึงแก่ชีวิตได้ และไม่ให้เกิดข้อเสียที่ส่งผลระยะยาวต่อร่างกาย...
- รู้หรือไม่ ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ในระยะเวลาอันสั้น อันตรายถึงเสียชีวิต...
- สัญญาณเตือน โรคกระดูกสันหลังส่วนคอ ภัยร้ายใกล้ตัว
- แพทย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชี้ 5 ข้อเสี่ยงซึมเศร้าหลังคลอด
- เปิดชื่อ 6 อาหาร "มะเร็งชอบ" จากลิสต์คำเตือน WHO อร่อยแค่ไหนก็ควรเลี่ยง!
- เตือนแล้วนะ! ผัก 6 ชนิด ที่มักมีสารตกค้าง "สูงสุด" ขายเกลื่อนตลาด ควรระวังก่อนซื้อกิน